ประวัติ ของ มิเกล เด เซร์บันเตส

มิเกล เด เซร์บันเตสเกิดในตระกูลชนชั้นกลางในปี ค.ศ. 1547 ที่เมืองอัลกาลาเดเอนาเรส ประเทศสเปน (ในขณะปกครองโดยราชบัลลังก์กัสติยา) และไม่เคยเรียนระดับมหาวิทยาลัย ใน ค.ศ. 1569 เขาได้ย้ายไปประเทศอิตาลี ซึ่งบทกลอนของเขาได้รับการตีพิมพ์ที่นั่น เขาเข้าร่วมกับกองทหารสเปนที่อิตาลีและได้รับบาดเจ็บในการรบที่เลปันโต ใน ค.ศ. 1571 ทำให้มือซ้ายของเขาพิการ จากนั้นมา เขาก็ได้รับการเรียกขานว่า มือเดียวแห่งเลปันโต (el manco de Lepanto)

ใน ค.ศ. 1575 ระหว่างเดินทางกลับสเปนจากเนเธอร์แลนด์ เขาถูกจับโดยกองโจรสลัดบาร์บารีซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงแอลเจียร์ เมืองหลวงของประเทศแอลจีเรีย เขาถูกขังอยู่ที่นั่นจนกระทั่งกองโจรได้รับค่าไถ่และปล่อยเขาเป็นอิสระในปี ค.ศ. 1580

พอเดินทางกลับมาสเปน เขาก็ได้แต่งงานกับกาตาลินา เด ซาลาซาร์ อี ปาลาซิโอส ใน ค.ศ. 1584 และตีพิมพ์ La Galatea ในอีกหนึ่งปีให้หลัง เขาได้ทำงานเป็น supplier และคนเก็บภาษีอยู่ระยะเวลาหนึ่ง

เซร์บันเตสเริ่มเขียน ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน ใน ค.ศ. 1597 ขณะที่ถูกขังที่เมืองเซบิยาเนื่องจากปัญหาหนี้สิน และตีพิมพ์ส่วนแรกของเรื่องเมื่อ ค.ศ. 1605 ด้วยชื่อทางการว่า สุภาพบุรุษเจ้าปัญญา ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า (El ingenioso hidalgo don Quixote de la Mancha) ส่วนส่วนที่สองออกมาใน ค.ศ. 1615 ระหว่างส่วนแรกกับส่วนที่สองของ ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน นั้น เขาได้ตีพิมพ์ Novelas Ejemplares ซึ่งเป็นเรื่องสั้น 12 เรื่อง ใน ค.ศ. 1615 เขาได้ตีพิมพ์ Ocho Comedias y Ocho Entremeses Nuevos Nunca Representias ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องแสดงที่มีชื่อเสียงที่สุดทุกวันนี้ ในชื่อ ลานูมันเซีย (La Numancia) งานชิ้นนี้ของเขานั้น หลังจากตีพิมพ์ก็ไม่ได้รับการตรวจแก้อีกเลย จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 18

นวนิยาย Los Trabajos de Persiles y Sigismunda เป็นผลงานชิ้นสุดท้าย เซร์บันเตสเขียนเรื่องนี้เสร็จก่อนจะเสียชีวิตเพียง 3 วัน นวนิยายเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ 2 ปีหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว ใน ค.ศ. 1617[1] สิ่งที่น่าสนใจสำหรับงานชิ้นนี้คือ เซร์บันเตสถือว่างานชิ้นนี้นั้นเป็นงานชิ้นเอกของเขาและเป็นงานที่เหนือชั้นกว่า ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน มาก

อิทธิพลของเซร์บันเตสนั้น ถึงขนาดที่ว่าภาษาสเปนได้ถูกอ้างอิงถึงเป็นสำนวนในภาษาฝรั่งเศสและภาษาสเปนว่า "ภาษาของเซร์บันเตส" (ฝรั่งเศส: la langue de Cervantes; สเปน: la lengua de Cervantes)